ทั้งนี้ สาระสำคัญของข้อตกลงฉบับใหม่ ที่นอกจากปูตินเข้าร่วมการหารือแล้ว ยังประกอบด้วยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี และประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ผู้นำยูเครน คือ การหยุดยิงมีผลทันที ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 15 ก.พ. ( 05.01 น. ตามเวลาในไทย ) ตามด้วยกองทัพยูเครนและกลุ่มกบฏต้องถอนอาวุธหนักออกจากพื้นที่สู้รบภายใน 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องปล่อยเชลยศึก ขณะที่รัฐบาลยูเครนนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง และยุติมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏ รวมถึงกระจายอำนาจออกไปยังภาคตะวันออกมากขึ้น โดยต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ด้านกลุ่มกบฏเปิดทางให้ทหารของรัฐบาลเข้าไปรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนที่ ติดกับรัสเซีย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ว่านายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานมุขมนตรียุโรป แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี แสดงความยินดีที่การเจรจาพหุภาคี 4 ฝ่ายที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส ระหว่างเยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และยูเครน เมื่อวันพุธ จบลงด้วยการเห็นพ้องข้อตกลงหยุดยิงเพื่อสร้างสันติภาพในภาคตะวันออกของ ยูเครน
อย่างไรก็ตาม การที่ข้อตกลงแบบเดียวกันนี้เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วไม่ได้รับการปฏิบัติตาม ทำให้สหภาพยุโรป ( อียู ) ยังคงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อไป และพร้อมเพิ่มระดับ "มาตรการลงโทษ" หรือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจให้มีความรุนแรงขึ้นอีก หากรัฐบาลรัสเซียของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของข้อตกลงอย่างเพียงพอ
แหล่งที่มา : เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น